ปัจจุบันเราใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในการบรรจุของเหลวต่างๆที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง เจลอาบน้ำ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ พอใช้หมด เราก็ทิ้งขวดเปล่าลงถังขยะ แล้วก็ไปซื้อขวดใหม่ แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหาปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะพลาสติกเป็นขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึง 450 ปี
ธุรกิจ refill station น้ำยาทำความสะอาด
Refill station คือ ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าด้วยการแบ่งขายผลิตภัณฑ์ต่างๆให้กับลูกค้า ณ จุดบริการ โดยให้ลูกค้านำภาชนะบรรจุมาเอง เป็นการหมุนเวียนใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ แทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะได้ขายสินค้าสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมด้วย และเทรนด์ธุรกิจสีเขียวที่ให้ประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
รู้ไหมว่า ประเทศไทยสามารถตั้ง refill station ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ได้มีประกาศให้มีการแบ่งขายน้ำยาทำความสะอาด ณ จุดบริการ หรือ Refill station ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งมีเงื่อนไขว่า
1.) น้ำยาทำความสะอาดที่นำมาแบ่งขายจะต้องเป็นเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างรถ และน้ำยาเช็ดกระจก เป็นต้น และมีสารสำคัญอยู่ในกลุ่มสาร 4 กลุ่มนี้เท่านั้น ได้แก่
กลุ่มที่ 1 สารลดแรงตึงผิวชนิดที่มีทั้งประจุบวกและประจุลบ (amphoteric surfactants)
กลุ่มที่ 2 สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ (anionic surfactants)
กลุ่มที่ 3 สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ ยกเว้นสารกลุ่มโนนิลฟีนอลเอทอกซีเลต (nonionic surfactants ยกเว้น nonylphenol ethoxylate)
กลุ่มที่ 4 สารกลุ่มเอมีนออกไซด์ (amine oxides)
2.) วัตถุอันตรายที่สามารถนำมาแบ่งขาย ณ จุดบริการได้ ต้องเป็นวัตถุอันตรายที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตหรือนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ไว้แล้วเท่านั้น
โดยจุดบริการแบ่งขายสามารถเป็นได้ทั้งแบบสถานที่ หรือแบบเคลื่อนที่ได้โดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ซึ่งต้องมีการแสดงป้าย สถานที่แบ่งขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 1ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน และแสดง ใบแจ้งข้อเท็จจริงฯ การ refillฉบับจริง หรือ ฉบับสำเนา ในรูปแบบ QR code หรือ url ที่สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ เพื่อให้ผู้ซื้อตรวจสอบได้
ภาพ : คู่มือแนวทางการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เพื่อแบ่งขาย ณ จุดบริการ (REFILL STATION)
สำหรับภาชนะที่นำมาใช้รองรับน้ำยาทำความสะอาด ควรเป็นพลาสติกชนิด PET เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม หรือ HDPE เช่น ขวดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น
เราสามารถช่วยกันลดขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันได้ ด้วยการนำภาชนะที่ใส่น้ำยาทำความสะอาดที่มีอยู่แล้ว กลับมาใช้ซ้ำใหม่อีกครั้ง (Reuse) แม้การใช้ถุงรีฟิลจะดูเหมือนเป็นการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ แต่อย่าลืมว่าถุงรีฟิลก็ผลิตจากพลาสติกเช่นเดียวกัน ดังนั้น จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่เรามีอยู่แล้วไปเติมผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการใช้ ได้ตามความต้องการ โดยไม่สร้างขยะเพิ่มแม้แต่ชิ้นเดียว
ข้อมูลอ้างอิง :
คู่มือแนวทางการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เพื่อแบ่งขาย ณ จุดบริการ (REFILL STATION)